พบปะพูดคุยกันครับ

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556


การได้รับเงินเดือนตามกฎ ก.ค.ศ.ฯ
ตามที่ได้มีการประกาศ กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2555 นั้น เพื่อให้การดำเนินการตาม กฎ ก.ค.ศ. ฉบับดังกล่าว เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ก.ค.ศ. จึงกำหนดวิธีการในการดำเนินการเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ โดยได้แจ้งไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ว3 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2556 โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้


1.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำของตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นอยู่แล้ว/ถูกลดขั้นเงินเดือนหรือลดเงินเดือน/ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรการศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรองเพิ่มขึ้น หรือสูงขึ้น ให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป

2.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย หากได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับอยู่ก่อนวันที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้สั่งให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วย โดยให้ไปอาศัยเบิกในอันดับ คศ.1 โดยให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม ถ้าไม่มีขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่มีเงินเดือนใกล้เคียงที่สูงกว่า ไม่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 แล้วจึงพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
ตัวอย่าง นาย ก. รับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วย ในอัตรา 17,960 บาท ซึ่งเป็นขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วย ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 ให้สั่งให้ นาย ก. ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับ คศ.1 ขั้น 17,910 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นใกล้เคียงที่สูงกว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2556 ก่อน แล้วจึงพิจารณาเลื่อนเงินเดือนต่อไป

3.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับเงินเดือนของตำแหน่งและวิทยฐานะในอันดับ คศ.2 คศ.3 หรือ คศ.4 อยู่ก่อนวันที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ให้สั่งให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนเดิม และให้ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับถัดไป ได้อีกหนึ่งอันดับเท่านั้น โดยให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม หรือในกรณีที่ไม่มีขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม ก็ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่มีเงินเดือนใกล้เคียงที่สูงกว่า สำหรับผู้ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นในอันดับ คศ.2 มีผลใช้บังคับไม่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 และผู้รับเงินเดือนเต็มขั้นในอันดับ คศ.3 หรือ คศ.4 มีผลใช้บังคับไม่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2554
ตัวอย่าง นาย ข. รับเงินเดือนอันดับ คศ.2 อัตราเงินเดือน 37,830 บาท ซึ่งเป็นขั้นสูงของอันดับ คศ.2 อยู่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 ให้สั่งให้นาย ข. ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับ คศ.3 ขั้น 37,900 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นใกล้เคียงที่สูงกว่า (เนื่องจากอัตราเงินเดือน 37,830 บาท ไม่มีกำหนดในอันดับ คศ.3) ในวันที่ 1 เมษายน 2556 ก่อน แล้วจึงพิจารณาเลื่อนเงินเดือนต่อไป
สำหรับการให้ได้รับเงินเดือน ในกรณีอื่นๆ ที่กำหนดให้ได้รับเงินเดือนตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
ขอขอบคุณ : วัชรี เกิดพิพัฒน์
ผอ.ภารกิจเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ
การบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีมีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา
ในช่วงนี้มีข่าวคราวเรื่องการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในกรณีพบการทุจริตในการสอบ ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวที่สะเทือนถึงความเป็นวิชาชีพชั้นสูงไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกที่ทุกองค์กรย่อมมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ก็ต้องแยกแยะกันเป็นเรื่องๆ ไป ในวันนี้จึงหยิบยกกรณีการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยมาเป็นความรู้กันอีกกรณีหนึ่ง นั่นคือได้ผ่านการสอบคัดเลือกมาแล้ว เมื่อได้รับการบรรจุเข้ารับราชการกลับพบว่า มีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา

โดยเรื่องมีอยู่ว่า นายแสน (นามสมมุติ) ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย พบว่ามีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหามียาบ้าไว้ในความครอบครอง จำนวน 5 เม็ด และศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน กำหนด 1 ปี ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่า นายแสนยังไม่เคยต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงยังไม่ขาดคุณสมบัติสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 30(10) แต่มีปัญหาว่าจะขาดคุณสมบัติ ในกรณีไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หรือไม่ จึงได้ขอหารือมายังสำนักงาน ก.ค.ศ.
เรื่องดังกล่าว ก.ค.ศ. โดย อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาว่า นายแสนมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และลงโทษตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ถือได้ว่า ศาลได้วินิจฉัยว่า นายแสนเป็นเพียงผู้เสพเท่านั้น มิใช่เป็นผู้จำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เนื่องจากกรณีที่จะถือว่าเป็นผู้จำหน่ายนั้น จะต้องมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป แต่ในกรณีนายแสนมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง จำนวน 5 เม็ด ศาลได้พิเคราะห์แล้วว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 20 กรัม เมื่อนายแสนเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/ ว 208 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2546 ให้ถือว่าไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 รวมทั้งใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งได้ออกให้นายแสนที่ได้เคยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าไม่พบสารเสพติด มีสุขภาพแข็งแรงดี อันเป็นการแสดงว่าได้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพจนร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว นายแสนจึงไม่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
ที่หยิบยกมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สังคมได้ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิด แต่หากไม่กระทำผิดเลยจะดีกว่า เพราะหากเราต้องเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ก็ต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี จะได้ปฏิบัติงานด้วยความสุข มีความเจริญในหน้าที่การงานสืบไป
เขียนโดย สามารถ ข่าวดี
ผอ.ภารกิจกฎหมาย อุทธรณ์และร้องทุกข์ สำนักงาน ก.ค.ศ.

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

 สถานี ก.ค.ศ.: เรื่องเกี่ยวกับการพัสดุ (การสอบราคา)
โดย...ประสาน ยินดี ผู้อำนวยการภารกิจเสริมสร้างและมาตรฐานวินัย
สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับรายงานการดำเนินการทางวินัยจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่างๆ ว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากข้าราชการครูซึ่งมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน ภารกิจภายในโรงเรียนมิใช่จะมีเฉพาะการเรียน การสอน เพียงอย่างเดียว หากต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องพัสดุอีกด้วย ดังนั้น เมื่อข้าราชการครูขาดองค์ความรู้ในเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 การดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับพัสดุจึงได้กระทำไปโดยไม่ได้เข้าใจในระเบียบ โดยที่ข้าราชการครูดังกล่าวไม่ทราบว่ากระทำไปตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งถูกต้องตามระเบียบพัสดุหรือไม่ ซึ่งหาเป็นความผิดของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงไม่ เพียงแต่ขาดการอบรม โดยไม่ทราบว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เป็นระเบียบที่มีการกำหนดโทษไว้ ซึ่งต่างจากระเบียบอื่น โดยกำหนดโทษไว้ในข้อ 10 ซึ่งแม้การ กระทำดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ก็ยังให้ลงโทษภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ต้องถูกดำเนินการทางวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนักงาน ก.ค.ศ.ใคร่หยิบยกในเรื่องที่พบบ่อยคือเรื่องการสอบราคา ซึ่งการสอบราคาจะกระทำได้ในการซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ซึ่งกำหนดอยู่ในข้อ 20 ซึ่งข้าราชการครูบุคคลใดได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินตามระเบียบพัสดุดังนี้
ในเรื่องการประกาศสอบราคา
1.ให้ปิดประกาศการสอบราคาอย่าง 10 วัน (การสอบราคาในประเทศ) และให้เจ้าหน้าที่พัสดุส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างทำงานนั้นโดยตรง หรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับให้ปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการนั้น
2.ในการยื่นซองสอบราคา ผู้เสนอราคาจะต้องผนึกซองจ่าหน้าถึงประธานคณะกรรมการ เปิดซองสอบราคาการซื้อหรือการจ้างครั้งนั้น และส่งถึงส่วนราชการผู้ดำเนินการสอบราคาก่อนวันเปิดซองสอบราคา โดยยื่นโดยตรงต่อส่วนราชการ หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ในกรณีที่ส่วนราชการกำหนดให้กระทำได้
3.ให้เจ้าหน้าที่ลงรับโดยไม่เปิดซองพร้อมระบุวันและเวลาที่รับซอง ในกรณีที่ผู้เสนอราคามายื่นซองโดยตรงให้ออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นซอง สำหรับกรณีที่เป็นการยื่นซองทางไปรษณีย์ ให้ถือวันและเวลาที่ส่วนราชการนั้นลงรับจากไปรษณีย์เป็นเวลารับซอง และให้ส่งมอบซองให้แก่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุทันที
4.ให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเก็บรักษาซองเสนอราคาทุกรายโดยไม่เปิดซองและเมื่อถึงกำหนดเวลาเปิดซองสอบราคาแล้ว ให้ส่งมอบซองเสนอราคาพร้อมทั้งรายงานผลการรับซองต่อคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาเพื่อดำเนินการต่อไป
ส่วนในเรื่องหน้าที่ของคณะกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินการอย่างไรในวันเปิดซองสอบราคาโปรดติดตามฉบับหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลจากคอลัมม์:สถานี ก.ค.ศ. (ที่มาจากหนังสือพิมพ์มติชน)